ลาเต้อาร์ต (Latte Art) ศิลปะฟองนมเพิ่มความน่าลิ้มลองของกาแฟมากยิ่งขึ้น

กาแฟ Jan 28, 2021

วิธีทำลาเต้อาร์ต ให้สวยงามบนกาแฟนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แม้หลาย ๆ คนจะคุ้นเคยกับลวดลายบนกาแฟที่เพิ่มความน่าลิ้มลองของกาแฟมากยิ่งขึ้นในร้านกาแฟที่เราเข้าไปใช้บริการ

ซึ่งคำว่า ลาเต้ “latte” ที่เราเรียกจนติดปากกันเป็นประจำนั้น ในภาษาอิตาลี แปลอย่างตรงตัวว่า “นม“‘ และลาเต้ ก็เป็นเมนูเครื่องดื่ม ที่มาจากการผสมผสานระหว่างกาแฟดำ ที่มีการเน้นนมเป็นหลัก ที่ให้รสชาติกาแฟดำธรรมดา ๆ มีความหอม กลมกล่อมยิ่งขึ้นนั่นเอง

กาแฟ เครื่องดื่มที่คนนิยมกันมากทั่วโลก และเป็นเครื่องดื่มเดียวที่มีการตกแต่งหน้าทำให้เกิดความสวยงาม ที่ต้องใช้ศิลปะในการวาดลวดลายจากฟองนม ที่เรียกว่า ลาเต้อาร์ต

ลาเต้อาร์ต (Latte Art) นั้นดีต่อใจ มาก ๆ สำหรับคนที่ชอบดื่มกาแฟนม และกาแฟนี่แหละคงจะเป็นเครื่องดื่มประเภทเดียวที่มีการตกแต่งหน้าตาเหมือนกับหน้าเค้ก ซึ่งการทำลาเต้อาร์ต ไม่เพียงแค่ทำเล่น ๆ เพื่อให้กาแฟน่าลิ้มลอง แต่ถึงขนาดที่ว่าการวาดฟองนมบนกาแฟนี้ถูกจัดขึ้นให้มีการแข่งขันกันเลยทีเดียว เพื่อวัดความแม่นยำ ชำนาญการของบาริสต้า

ซึ่งหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า การทำลาเต้อาร์ต หรือวาดฟองนมบนกาแฟนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานมากแค่ไหนทำไมถึงได้รับความนิยมกันอย่างมาก แต่จริง ๆ แล้วการแต่งฟองนมนี้เพิ่งจะมามีกระแสตอบรับที่ดีในช่วงประมาณทศวรรษที่ 1980-1990 หรือ พ.ศ. 2523-2533 นี่เอง

จุดเริ่มต้นของ ลาเต้อาร์ต (Latte Art)

การวาดลวดลายฟองนมบนกาแฟ หรือ ลาเต้อาร์ต นี้ เกิดขึ้นที่เมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเมืองเดียวกันกับกาแฟแบรนด์ดังอย่างสตาร์บัคส์ และไมโครซอฟท์  มีจุดแรกเริ่มมาจากร้านกาแฟที่มีชื่อว่า Espresso Vivace ของ เดวิด โชเมอร์ (David Schomer)

เดวิด โชเมอร์  ผู้ที่เรียนจบมาทางด้านมานุษยวิทยา และดนตรีคลาสสิก มีความฝันที่อยากจะเป็นนักเป่าฟลุตมืออาชีพ แต่สุดท้ายเขากลับได้เข้าไปทำงานในกองทัพอากาศ ในหมวดการซ่อมเครื่องบิน และได้มีโอกาสร่วมทำงานกับบริษทโบอิ้ง จนกระทั่งเกษียณอายุจากการเป็นทหารอากาศ เมื่ออายุได้ 50 ปี จึงได้เริ่มมองหางานอื่น ๆ จนมาลงเอยที่การเปิดซุ้มกาแฟเคลื่อนที่ในย่าน Capital Hill ในปี 1988

ในช่วงที่เปิดซุ้มขายกาแฟนั้น เดวิดก็ไม่ได้มีความสนใจในเรื่องกาแฟมากเท่าที่ควร จนทำให้เขาขายกาแฟอยู่เป็นปีแต่ไม่มีกำไร แต่การขายกาแฟนี่แหละที่ทำให้เขาเริ่มรัก และเห็นความเป็นไปได้ที่อยากขยายธุรกิจกาแฟของเขาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงสร้างความแตกต่างโดยใช้สิ่งที่เขาสนใจอย่างเรื่องศิลปะ ผนวกกับความคลั่งไคล้ในเครื่องยนต์กลไก และยังกล่าวว่า “กาแฟเริ่มกลายเป็นงานศิลปะของผม และผมเริ่มหลงใหลมัน” นั่นจึงทำให้เขาเริ่มทดลองวิธีการต่าง ๆ ที่จะทำกับกาแฟของเขา และเปลี่ยนจากการเสิร์ฟกาแฟแบบธรรมดา เป็นการทดลองหลาย ๆ อย่าง เพื่อเสิร์ฟกาแฟที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าของเขา และจึงได้เริ่มทดลอง บวกกับเขียนผลที่ได้จากการทดลองของเขา ลงในวารสารเกี่ยวกับกาแฟ และตีพิมพ์ออกเป็นหนังสือบ้าง

ซึ่งงานทดลองของเขาที่สร้างการเปลี่บนแปลง และถูกพูดถึงมากที่สุดก็คือ เป็นหนึ่งผู้คิดค้นเรื่องลาเต้อาร์ตให้เป็นที่นิยม และรู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้นในสรัฐอเมริกา ในช่วงทศวรรษ 1990 โดยเฉพาะรูปหัวใจ ซึ่งต่อมากลายเป้นเอกลักษณ์ที่ถูกพูดถึงว่าเป็นเอกลักษณ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยเดวิด และงานทดลองเกี่ยวกับเรื่องการรักษาอุณหภูมิของน้ำให้คงที่ไประยะเวลาหนึ่ง ที่เป็นการช่วยเพิ่มรสชาติความหวานให้กับเอสเปรสโซได้ ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาเครื่องเอสเปรสโซ่และการเสิร์ฟได้ การทุ่มเทของเดวิดจึงทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงของธุรกิจกาแฟในซีแอตเทิล ทั้งนี้เขายังเปิดโรงเรียนสอนบาริสต้า และร้านกาแฟ  Espresso Vivace ได้รับการโหวตให้เป็นหนึ่งในเอสเปรสโซ่ที่ดีที่สุดในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ลาเต้อาร์ต กับการวาดลวดลาย 2 แบบ

ลวดลายของลาเต้อาร์ตนั้นมีนับไม่ถ้วน เพราะไม่ได้เจาะจงว่าต้องวาดรูปแบบไหนเป็นเฉพาะ ขึ้นอยู่กับจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ของบาริสต้า แต่วิธีการทำนั้นมีอยู่เพียงหลัก ๆ 2 แบบ

แบบ Free Pouring คือการใช้ Pitcher และความชำนาญของบาริสต้าในการวาดลวดลายด้วยวิธีกำหนดน้ำหนักและทิศทางจากการราดฟองนมบนกาแฟ

แบบ Etching คือการใช้เครืองมือคล้ายไม้จิ้มฟัน วาดเป็นลวดลายต่าง ๆ เช่น รูปสัตว์ รูปคนหลังจากราดฟองนมบนกาแฟ

และ รูปหัวใจ เป็นลายแรกที่เกิดขึ้นจากการทำลาเต้อาร์ต โดย เดวิด โชเมอร์ ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนา ทดลองวาดลวดลายหลากหลายแบบ จนได้รับความนิยมอย่างมากที่สุด ถึงขั้นมีการแข่งขันระดับโลก อย่าง World Latte Art Championship

ลาเต้อาร์ต ความนิยมที่ต้องอาศัยองค์ประกอบต่าง ๆ

การที่จะได้ลาเต้อาร์ตดี ๆ ซักแก้ว นั้นมีเงื่อนไขที่เป็นพื้นฐานสำคัญมาก ก็คือ เครื่องเอสเปรสโซ่ที่ดี และคุณภาพของฟองนมที่ตีจนแตกฟองสวย เนื้อละเอียด ขนาด Micro Foam บวกกับต้องอาศัยความชำนาญ เชี่ยวชาญ ประสบการณ์และเทคนิคเฉพาะตัวของบาริสต้า รวมถึงการพัฒนาในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งในเงื่อนไขนี้เองที่ทำให้ในอดีต การแต่งหน้ากาแฟด้วยฟองนม ไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะแค่การตีฟองนมด้วยมือ ทำให้ความสม่ำเสมอ ความแน่นอนของฟองนมที่ได้ไม่มีทางจะออกมาสม่ำเสมอเท่ากันหมด

แต่ยุคปัจจุบันนี้ยอมรับเลยว่าเทคโนโลยีไปไกลขึ้นได้ทุกวัน และมีส่วนทำให้การดำเนินชีวิตในประจำวันสะดวกสบายมากขึ้น อย่างการทำลาเต้อาร์ต ก็สามารถใช้เครื่องแต่งหน้าโฟม Coffee Ripple ที่สามารถทำเป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้ เพียงลิงก์เข้ากับสมาร์ทโฟน และสร้างรูปที่ต้องการได้จากรูปถ่ายในสมาร์ทโฟน แค่นี้ก็ได้ลาเต้อาร์ตลวดลายที่ต้องการแบบง่าย ๆ แล้ว

Tags